“เมื่อวานคุณทานอะไร?” เมื่อครอบครัวไม่ใช่เรื่องของกฎหมายหรือสายเลือดที่ต่อไป

Kinou Nani Tabeta? ซึ่งแปลตรงๆ ว่า “เมื่อวานกินอะไรมา?” เริ่มต้นจากการ์ตูนหน้าปกจืดๆ ที่ได้รับชื่อไทยเหยียดๆ ว่า “เมื่อวานเจ๊ทานอะไร” จนผ่านไปประมาณสิบปีจึงได้มาเป็นละครสั้นรอบดึกของญี่ปุ่น

สู่ตอนยาวพิเศษฉายในช่วงปีใหม่ จนได้ฉายใน Netflix ไปทั่วโลก และกลายเป็นภาพยนตร์ฉายโรงในที่สุด

ถ้าถามว่าทำไมตอนแรกๆ เรื่องนี้ถึงไม่ฮิตติดตลาด หรือพูดภาษาสมัยนี้คือ “ทำไมไม่แมส” เราคงตอบว่าเพราะมาเร็วเกินไป

หลายๆ คนน่าจะรู้จักเรื่องนี้กันแล้ว แต่เราขอเล่าเรื่องย่อๆ สักหน่อยก็แล้วกัน

เรื่องนี้เป็นเรื่องของคู่รักชายกับชายคู่หนึ่ง ซึ่งไม่ใช่รักกุ๊กกิ๊กหรือหวือหวาแบบการ์ตูน BL ที่ทุกคนคุ้นเคย
แต่เป็นเรื่อง “ชีวิตประจำวัน” ของคู่รักวัย 30 กว่าๆ ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในสังคมญี่ปุ่นซึ่งยังไม่เปิดรับเกย์อย่างเต็มที่

คะเค ชิโร่ เป็นทนายความที่เป็นเกย์ และปกปิดเรื่องนี้ไม่ให้คนรอบตัวรู้ ส่วนหนึ่งเพราะหน้าที่การงาน แต่อีกส่วนหนึ่งคงเพราะครอบครัวที่ปลูกฝังเขามาว่าสิ่งที่เขาเป็นคือ “ความผิดปกติ”
แม้เป็นทนายความซึ่งจัดเป็นอาชีพชั้นนำของญี่ปุ่น แต่ชิโร่ไม่ได้มีความกระตือรือร้นอยากขึ้นตำแหน่งหรือรับงานใหญ่ให้มีชื่อเสียง เขาแค่อยากทำงานไปวันๆ พอมีพอกิน และมีเวลาให้ชีวิตส่วนตัวอย่างเต็มที่ ให้ความสำคัญกับ Work Life Balance และงานอดิเรกคือการทำอาหาร
ชิโร่อาศัยอยู่กับคนรักผู้ชายแล้วก็เลิกรากันไปหลายครั้ง จนได้พบกับเคนจิ

ยาบุกิ เคนจิ เป็นช่างทำผม ทั้งคู่เคยเจอกันในร้านที่เป็นแหล่งรวมของเกย์ และบังเอิญเจอกันอีกครั้งตอนชิโร่ไปทำผมที่ร้านของเคนจิ
ด้วยจังหวะชีวิตที่พอดิบพอดี ทำให้ทั้งคู่เริ่มต้นใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน

หนังโรงภาคล่าสุด ได้หยิบยกเอาเนื้อเรื่องเกี่ยวกับ “ครอบครัว” ในฉบับการ์ตูนมารวมกันเป็นธีมของเรื่อง

เนื้อเรื่องเปิดมาตอนต่อจาก Special เมื่อปีใหม่ที่ผ่านมาซึ่งชิโร่กลับไปบ้านตัวเองพร้อมพาเคนจิไปด้วย
มาตอนนี้แม่ชิโร่กลับบอกว่าเธอไม่ได้รังเกียจเคนจิ แต่ไม่อยากให้ชิโร่พาเคนจิมาที่บ้านตอนปีใหม่ เพราะถึงสมองจะเข้าใจแต่ก็ทนเห็นภาพลูกตัวเองอยู่กับผู้ชายไม่ได้อยู่ดี

ในตอนแรกชิโร่ยอมเข้าใจ และสัญญากับแม่ว่าจะไม่พาเคนจิมา พร้อมไปขอโทษเคนจิ
ส่วนเคนจิแม้รู้สึกเสียใจ แต่ก็ยอมรับและบอกว่าไม่เป็นไร

ผ่านมาสักพักหนึ่ง ประธานสำนักงานทนายเล่าว่า ลูกชายแต่งงานแล้วลูกสะใภ้ไม่ชอบเธอ ไม่ยอมมาเจอ ไม่ยอมให้ไปหาด้วย
ชิโร่ซังได้ฟังแล้วก็เอากลับไปคิดทบทวนเรื่องเคนจิสุดท้ายตัดสินใจว่าสำหรับเขา เคนจิคือ “ครอบครัว” เทียบไปก็เหมือนเป็นสามีภรรยากัน ถ้าแม่ไม่ยอมให้เคนจิไปบ้านปีใหม่เขาก็จะอยู่กับ “ครอบครัว” ของตัวเอง ไม่กลับไปหาพ่อแม่เช่นกัน เพราะวันปีใหม่เป็นวันที่ควรอยู่กับคนสำคัญที่สุดในชีวิต

เคนจิกลับไปที่บ้าน เพราะได้แจ้งข่าวการเสียชีวิตของพ่อซึ่งหย่าร้างกับแม่ไปตั้งแต่เขายังเด็กๆ เขาไปรับกระดูกแล้วเอากลับไปที่บ้านเพื่อทำพิธี
พอกลับบ้านแม่ของเคนจิชวนให้มาทำร้านเสริมสวยที่บ้านต่อส่วนหนึ่งเพราะเป็นห่วงลูกที่ “อยู่ตัวคนเดียว” เพราะไม่เชื่อว่าคนสองคนแค่อยู่ด้วยกันจะมีความสัมพันธ์กันมากพอจะประคองกันไปทั้งชีวิต
สำหรับแม่ของเคนจิ เธอไม่ได้รังเกียจที่ลูกเป็นเกย์ แต่ก็มองว่าความสัมพันธ์ของเกย์มันเปราะบางและเลิกรากันได้ง่ายๆ จึงอยากเลือกหนทางที่มั่นคงให้ลูก

แต่เคนจิและชิโร่ไม่เคยมีเรื่อง “เลิกรา” อยู่ในหัวเลย ทั้งคู่มองการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเป็นสิบปีว่านี่คือครอบครัวแล้ว เทียบเท่ากับครอบครัวอื่นๆ นั่นแหละ เป็นห่วงกันก็แต่สุขภาพของอีกฝ่ายที่แก่ตัวลงทุกวันก็เท่านั้น

ตรงกันข้าม เพื่อนร่วมงานของเคนจิที่อาศัยอยู่กับแฟนสาวเป็นคู่รักชายหญิงแท้ๆ แต่บทจะเลิกก็กันเสียเฉยๆ จบความสัมพันธ์ได้ง่ายๆ

ในตอนท้ายเรื่อง คาโยโกะซังเพื่อนทำกับข้าวของชิโร่เล่าว่าลูกสาวของเธอเพิ่งคลอด และครอบครัวของเธอซึ่งสนิทสนมกับชิโร่ตัดสินใจเอาตัวอักษรคันจิตัวหนึ่งจากชื่อของเขาไปตั้งเป็นชื่อหลาน ซึ่งคำนั้นของเธอทำให้ชิโร่รู้สึกประหลาด พวกเขาไม่ได้เป็นอะไรกันเลย แค่เคยทำกับข้าวและแบ่งผักแบ่งปลากันเท่านั้น แต่ครอบครัวของคาโยโกะซังกลับยอมรับในเขาและทำเหมือนเขาเป็นคนในครอบครัว

ในตอนจบ ชิโร่กลับไปบ้านเพื่อขอให้แม่สอนวิธีทำมีทบอล
เขาทำมีทบอลใส่กล่องไปปิกนิกชมดอกซากุระกับเคนจิ และบอกเคนจิให้อย่าคิดมากเรื่องครอบครัวของเขา
เพราะแม่ที่พูดว่าไม่อยากให้เคนจิไปบ้าน เป็นคนบอกเขาเองว่าต้องให้ความสำคัญกับคนที่เป็นคนสำคัญของตัวเอง
และเขาก็ไม่เคยคิดจะทอดทิ้งพ่อแม่ เขายังไปมาหาสู่ และตั้งใจจะดูแลจนแก่เฒ่า ได้จัดงานศพให้เลย

เคนจิพูดว่า พวกเขาอยู่กันสองคนก็จริง แต่จริงๆ แล้วไม่ได้มีกันแค่สองคน ชีวิตต้องเกี่ยวพันธ์กับผู้คนอีกมากมายรอบตัว

ระหว่างดู และหลังดูจบ เราก็อดคิดถึงความหมายของครอบครัวไม่ได้

ครอบครัวแต่เดิมมักฟังแล้วนึกถึงคนที่มีสายเลือดเดียวกันอยู่ร่วมกัน

แต่เมื่อลองคิดดีๆ คนอยู่บ้านเดียวกันก็ไม่ได้มีสายเลือดเดียวกันหมด เพราะการแต่งงานก็คือการที่คนไม่รู้จักกันมาอยู่ด้วยกัน

ถ้าอย่างนั้นครอบครัวคือเอกสารราชการที่แสดงความสัมพันธ์อย่างนั้นหรือ? ก็ไม่ใช่อีกแหละ

บางทีครอบครัวอาจจะหมายถึงการอกินข้าวด้วยกัน ทำกับข้าวด้วยกัน ล้างจานด้วยกันก็ได้นะ
แม้ไม่ได้อยู่ด้วยกันก็เป็นครอบครัวเดียวกันได้
ขนาดญาติทางสายเลือดยังมีญาติห่างๆ กับญาติสนิทเลย

ทั้งฉบับละคร (ในไทยดูได้ใน Netflix) และฉบับภาพยนตร์
ในฐานคนอ่านการ์ตูนมาตั้งแต่แรกก็ค่อนข้างตกใจที่ยกเอาประเด็นสังคมหนักๆ มาเล่นทั้งนั้น
ต่างจาก BL อื่นๆ ที่มักเอาเรื่องรัก ดราม่า คอเมดี้มาเล่น
แต่สังคมหนักๆ ที่สมจริงของเรื่องกลับเป็นสิ่งที่ยิ่งช่วยเสริมความอบอุ่นหัวใจเมื่อดูเรื่องนี้

ถามว่าใครควรดู
เราว่าทุกคนควรดู อย่าไปตั้งแง่ว่ามันเป็นเรื่องของเกย์
แต่เราอยากให้ทุกคนดูชิโร่และเคนจิในฐานะคนธรรมดาสองคนที่อาศัยอยู่ด้วยกัน
และเมื่อดูแล้วก็อยากให้เข้าใจว่าคนเราไม่ได้แตกต่างกันด้วยรสนิยมทางเพศหรอก แต่ทุกคนต่างกันหมดเลยต่างหาก
ผู้หญิงแต่ละคนไม่เหมือนกัน ผู้ชายแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน เกย์ก็เช่นกัน ทุกคนต่างเป็นคนธรรมดาที่แตกต่างกัน

Leave a comment