กินเที่ยวดะไซฟุ จังหวัดฟุคุโอกะ

อัพแนะนำที่เที่ยวฮอกไกโดมาหลายรอบ
มาหาความอบอุ่นที่คิวชูกันบ้าง

คราวนี้เป็นที่ที่เราชอบ และไปมาหลายครั้งมาก สังเกตได้ว่าภาพถ่ายปนหลายฤดูและหลายปีมาก

คิดว่าหลายๆ คนน่าจะรู้จักชื่อ “ดะไซฟุ” เพราะเป็นหนึ่งในที่เที่ยวยอดฮิตที่คนเที่ยวคิวชูจะต้องแวะ
และคิดว่าเมื่อพูดถึงดะไซฟุ เกือบทุกคนน่าจะถึงถึงแค่ Dazaifu Tenmangu ที่เดียว
แต่จริงๆ แล้ว “ดะไซฟุ” ไม่ใช่ชื่อศาลเจ้านะคะ!! ศาลเจ้าเป็นแค่ส่วนหนึ่งของดะไซฟุเท่านั้น

“ดะไซฟุ” มีความสำคัญอย่างไร

ถ้าใครอ่านคันจิพอจะออก อาจจะสังเกตเห็นว่าชื่อเมืองมีคำว่า 府 ซึ่งหมายถึงการปกครอง รัฐบาล อยู่

นั่นเพราะว่า ดะไซฟุ คือหัวเมืองสำคัญของประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยเฮอัน มีทางเชื่อมไปยังท่าเรือฮากาตะ ซึ่งเป็นเมืองท่าติดต่อการค้าและการปกครองกับต่างประเทศ เช่น จีน เกาหลี เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งฮากาตะเองก็มีบันทึกว่าเป็น China Town ที่เก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่นด้วย

ในยุคเฮอัน (ประมาณพันปีก่อน) ดะไซฟุเป็นเมืองขนาดใหญ่เมืองหนึ่ง มีรัฐบาลที่ทางเฮอัน (เกียวโตปัจจุบัน) ส่งมาปกครอง หน้าที่ของดะไซฟุจะคล้ายกับกระทรวงการต่างประเทศในปัจจุบัน

แต่อาคารที่ใช้ว่าการทั้งหลายพังทลายไปหมดแล้ว เหลืออาคารเก่าเพียงวัดบางแห่ง และศาลเจ้า Dazaifu Tenmangu เท่านั้น

ศาลเจ้า Dazaifu Tenmangu ตั้งขึ้นบนจุดที่วัวลากเกวียนของสุกาวาระ มิจิซาเนะลงไปนั่ง ขณะเดินทางมาจากเกียวโต

สุกาวาระ มิจิซาเนะเป็นขุนนางที่โด่งดังมากสมัยเกียวโต เป็นอัจฉริยะรอบด้าน แต่งกลอนไว้มากมายตั้งแต่อายุยังน้อย ละมีผลงานด้านการปกครองด้วย นอกจากนี้ยังมีชื่อเสียงอีกอย่างคือตำนานคำสาปแช่งจักรพรรดิด้วยความแค้นที่โดนส่งมาดะไซฟุ (สมัยนั้นเดินทางด้วยเกวียนและเรือ ใช้เวลานานและเสี่ยงชีวิตด้วย)

หลังเสียชีวิต สุกาวาระ มิจิซาเนะถูกยกให้เป็นเทพเจ้าแห่งการศึกษา ชื่อในฐานะเทพของเขาคือ “เทนจิน”

ศาลเจ้าที่บูชาเทนจินซามะจะมีชื่อลงท้ายว่า “เทมมังกู” และมีรูปปั้นวัวอยู่ในศาลเจ้า

เนื่องจากมีชื่อเสียงด้านการศึกษา จึงเป็นศาลเจ้ายอดฮิตสำหรับเด็กเตรียมสอบ ช่วงต้นปีที่มีสอบเข้าโรงเรียนและมหาวิทยาลัยคนจะล้นมาก เราเคยไปตอนเดือนมกราคมครั้งนึง แค่จะลูบหัวรูปปั้นวัวหน้าทางเข้าคิวยาวอย่างกับเข้าฮอลคอนเสิร์ตเลย

สำหรับผู้สนใจ ศาลเจ้าเทมมังกูมีอยู่ทั่วประเทศญี่ปุ่น แต่ศาลที่โด่งดังและมีชื่อเสียงมากที่สุดคือ Dazaifu Tenmangu แห่งนี้ และ Kitano Tenmangu (เกียวโต)

และเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่าน ดะไซฟุยังมีชื่อเสียงโด่งดังมากขึ้นไปอีก

มีใครเดาออกกันไหมว่าเพราะอะไร?

.

.

.

ชื่อรัชสมัยค่ะ

ดะไซฟุมีชื่อเสียงเรื่องดอกบ๊วย

และมีกวีท่านหนึ่งได้แต่งกลอนชมดอกบ๊วยเมื่อมาเยือนดะไซฟุไว้เมื่อ 1,300 ปีที่แล้ว โดยถูกบันทึกเอาไว้ในมันโยชู

จนเมื่อปี 2019 ญี่ปุ่นขึ้นรัชสมัยใหม่ ได้นำส่วนหนึ่งของกลอนดังกล่าวไปตั้งเป็นชื่อรัชสมัยของญี่ปุ่น คือรัชสมัย “Reiwa”

(ภาพจาก นสพ. Asahi)

ดะไซฟุอยู่ตรงไหน?

ปัจจุบันดะไซฟุตั้งอยู่ในจังหวัด Fukuoka บนเกาะคิวชู
ใช้เวลาเดินทางจากตัวเมืองฟุคุโอกะประมาณ 30 นาที

โดยสามารถไปจากกลางเมืองได้ 2 วิธี
1. นั่งรถไฟ Nishitetsu จากสถานี Fukuoka (Tenjin) ไปสถานี Dazaifu โดยต้องต่อรถ 1 ครั้งที่สถานี
2. นั่งรถบัสจาก Bus Terminal หน้าสถานี Hakata หรือสนามบิน Fukuoka

ทั้ง 2 วิธีมีข้อดีข้อเสียต่างกัน

รถไฟ
– ต้องเปลี่ยนขบวน 1 ครั้ง
– ไปกลับจากเทนจิน สามารถเที่ยวเทนจินก่อนหรือหลังไปดะไซฟุได้
– ราคาถูกกว่า
– บางครั้งจะเจอรถไฟแต่งสวยๆ เป็นสายท่องเที่ยว
– สถานีดะไซฟุสวย

รถบัส
– ต่อเดียวถึง หาง่าย ไม่งง
– วิ่งนอกเมือง ผ่านภูเขา ได้ชมวิวสวยๆ

ที่เที่ยว

★หลักๆ ที่ห้ามพลาดและคงไม่มีคนพลาดคือ Dazaifu Tenmangu

นอกจากศาลเจ้าเก่าแก่ที่สวยงามและมีรูปแบบการก่อสร้างแปลกตาแล้ว สวนของดะไซฟุก็สวยไม่แพ้กัน ไปตอนไหนก็สวย สามารถไปเที่ยวได้เกือบทั้งปี

กลางใบไม้ผลิมีซากุระ
ฤดูฝนมีไฮเดรนเยียร์

ฤดูใบไม้ร่วงมีใบไม้เปลี่ยนสี

ปลายฤดูหนาวมีบ๊วย

★พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติประจำคิวชู

ตั้งอยู่บนภูเขาด้านหลังศาลเจ้า เดินผ่านสวนบ๊วยของศาลเจ้าไปจะมีบันไดเลื่อนให้ขึ้นไปถึงปากทางเข้าพิพิธภัณฑ์ได้เลย

ในพิพิธภัณฑ์จะมีนิทรรศการประจำกับนิทรรศการหมุนเวียนให้ชม ดูเพลินๆ

★ศาลเจ้า Kamado Jinja อยู่ห่างจาก Tenmangu ไปประมาณ 2 กิโล สามารถเดินทะลุทางเดินลอดภูเขาหลัง Dazaifu Tenmangu ไปได้ หรือจะรอรถบัส หาจักรยานเช่าขี่ไปดูยังได้

ศาลเจ้านี้มีชื่อเสียงเรื่องผูกดวงค่ะ
มีเครื่องรางเกี่ยวกับการผูกดวง ความสัมพันธ์ต่างๆ มากมาย และเป็นที่จัดงานแต่งงานยอดฮิตด้วย

และถ้าไปช่วงใบไม้แดงจะได้เห็นใบไม้แดงสวยๆ แถมศาลเจ้ายังจัดไลท์อัพให้ดูทุกปีด้วย

แถมศาลเจ้านี้ยังมีชื่อเสียงอีกอย่างหนึ่งคือชื่อศาลเจ้าคามาโดะ ไปเหมือนกับตัวเอกของเรื่อง Kimetsu no Yaiba (ดาบพิฆาตอสูร) จึงมีแฟนๆ จากทั่วประเทศแวะเวียนกันมาเยี่ยมชมกัน ตอนเราไปก็เจอเด็กๆ คอสเพลย์เป็นทันจิโร่กับเนสึโกะวิ่งกันให้ว่อนเลย

ขนมของกิน

รอบๆ ดะไซฟุมีร้านกาแฟ ร้านขนมเยอะมากกกกกกกกกกกก เยอะจนลองไม่หวาดไม่ไหว

ของดังสุดคือโมจิย่างค่ะ!

เป็นโมจิไส้ถั่วแดงกวนบดหยาบ แป้งบาง ปิ้งจนกรอบ
มีขายอยู่ทุกที่ทุกทาง ถ้าไม่เกลียดโมจิหรือเกลียดถั่ว มาถึงนี่ขอแนะนำให้ลอง

ร้านนี้เป็นร้านเซมเบ้ มีของแปลกอย่างหนึ่งคือเซมเบ้สด

มันคือเซ็มเบ้แหละ แต่เขาจะย่างไฟแรงหน่อย มันจะไม่แห้งกรอบ แต่กรอบนอกนุ่มใน มีหลายรสให้เลือก

อร่อยแปลกๆ ดี ถ้าไม่บอกว่าเป็นเซมเบ้บางทีอาจจะนึกว่าเป็นเนื้อสัตว์ด้วยซ้ำ

Google Map Link:https://g.page/fukutarodazaifu?share

ร้านในแผนที่ด้านบนคือ Fukutarou ซึ่งเป็นร้านเมนไทโกะชื่อดังสาขาดะไซฟุ
สาขานี้พิเศษตรงที่ไม่ได้ขายแต่ของฝาก แต่มีคาเฟ่ที่ขายขนมรสชาเขียวและข้าวปั้นย่างรสเมนไทโกะชิโสะด้วย!!!!เป็นอีกหนึ่งอย่างที่มาถึงที่นีไม่ควรพลาด (ขออภัยที่ไม่มีรูป)

นอกจากขนมที่เราได้ยกตัวอย่างไว้ด้านบน ละแวกรอบๆ ดะไซฟุยังมีร้านกาแฟและคาเฟ่อีกเยอะแยะมากมาย
สารพัดร้านขนมทั้งพาเฟ่ต์ แพนเค้ก พุดดิ้ง น้ำแข็งไส ฯลฯ

ไปทีไรแวะไม่ซ้ำร้าน อร่อยทุกร้าน ถ่ายรูปบ้างไม่ถ่ายรูปบ้าง เอารูปพุดดิ้งไปแล้วกัน

รูปจากร้าน Coba Cafe ลังเลมากว่าจะแปะชื่อร้านดีไหม กลัวคนจะเยอะกว่านี้
ขอใส่ตัวเล็กๆ ไว้ตรงนี้ ใครอ่านบล็อกถึงตรงนี้และเอากไปเสิร์ชต่อจนเจอก็ถือว่าเจอร้านลับแนะนำโดย JibChaCafe นะคะ❤️

ถ้าใครมีโอกาสได้ไปเที่ยวดะไซฟุ
อย่าเห็นว่าไม่มีอะไรเลยแวะแค่ศาลเจ้า

ขอแนะนำให้เผื่อท้องและเผื่อเวลาไว้สักครึ่งวัน เดินเล่น หาของกินกันดูค่อยไปต่อที่อื่น

สวัสดีปีใหม่ 2022

สวัสดีปีใหม่ และขอให้ปีนี้เป็นปีที่ดีสำหรับทุกคนค่ะ

Location รูป : https://goo.gl/maps/KRmhGj2xwxWVaBbz5

และขออนุญาตใช้พื้นที่แจ้งข่าวให้ทุกคนที่หลงเข้ามาอ่านบล็อกนี้ทราบ

จิบชาคาเฟ่ มีโดเมนแล้ว!!

jibchacafe.blog

ทุกท่านสามารถเข้าและแชร์บล็อกนี้ได้ผ่าน URL ด้านบน ได้อีกเป็นเวลา 10 เดือน!!
(ซื้อไว้แค่ปีเดียว ยังไม่แน่ใจว่าจะต่อไหม)

พอดีเจอโฆษณาลดราคาเมื่อตอน Black Friday ก็เลยลองซื้อ Domain ดู เป็นครั้งแรกในชีวิต
แต่ก็เป็นช่วงที่ชีวิตวุ่นวายมากๆ เลยไม่ได้มาอัพเดทในบล็อก

ตั้งใจว่าจะลองดูจำนวนคนเข้าไปเงียบๆ ว่าแตกต่างจากก่อนจดโดเมนไหมแล้วค่อยคิดว่าปีหน้าจะต่อหรือเปล่า
เพราะรอบนี้ได้โปรค่อนข้างถูก ถ้าเลขคนเข้าไม่ต่างจากเดิมแถมต้องจ่ายราคาเต็มคงขอคิดหนักๆ อีกครั้ง
แต่ใจเราก็อยากจะจด เพราะมันเท่!!

โควิดทำให้เราขอบคุณเทคโนโลยี
ในขณะเดียวกันก็ทำให้รู้สึกเหนื่อยกับ Social Network มากๆ เช่นกัน
ก็ได้แต่แอบหวังว่าจะมีคนเบื่อ sns หลงเข้ามาที่คาเฟ่สงบๆ แห่งนี้ และได้พักจิตใจจากสารพัดสงครามออนไลน์ค่ะ

“เมื่อวานคุณทานอะไร?” เมื่อครอบครัวไม่ใช่เรื่องของกฎหมายหรือสายเลือดที่ต่อไป

Kinou Nani Tabeta? ซึ่งแปลตรงๆ ว่า “เมื่อวานกินอะไรมา?” เริ่มต้นจากการ์ตูนหน้าปกจืดๆ ที่ได้รับชื่อไทยเหยียดๆ ว่า “เมื่อวานเจ๊ทานอะไร” จนผ่านไปประมาณสิบปีจึงได้มาเป็นละครสั้นรอบดึกของญี่ปุ่น

สู่ตอนยาวพิเศษฉายในช่วงปีใหม่ จนได้ฉายใน Netflix ไปทั่วโลก และกลายเป็นภาพยนตร์ฉายโรงในที่สุด

ถ้าถามว่าทำไมตอนแรกๆ เรื่องนี้ถึงไม่ฮิตติดตลาด หรือพูดภาษาสมัยนี้คือ “ทำไมไม่แมส” เราคงตอบว่าเพราะมาเร็วเกินไป

หลายๆ คนน่าจะรู้จักเรื่องนี้กันแล้ว แต่เราขอเล่าเรื่องย่อๆ สักหน่อยก็แล้วกัน

เรื่องนี้เป็นเรื่องของคู่รักชายกับชายคู่หนึ่ง ซึ่งไม่ใช่รักกุ๊กกิ๊กหรือหวือหวาแบบการ์ตูน BL ที่ทุกคนคุ้นเคย
แต่เป็นเรื่อง “ชีวิตประจำวัน” ของคู่รักวัย 30 กว่าๆ ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในสังคมญี่ปุ่นซึ่งยังไม่เปิดรับเกย์อย่างเต็มที่

คะเค ชิโร่ เป็นทนายความที่เป็นเกย์ และปกปิดเรื่องนี้ไม่ให้คนรอบตัวรู้ ส่วนหนึ่งเพราะหน้าที่การงาน แต่อีกส่วนหนึ่งคงเพราะครอบครัวที่ปลูกฝังเขามาว่าสิ่งที่เขาเป็นคือ “ความผิดปกติ”
แม้เป็นทนายความซึ่งจัดเป็นอาชีพชั้นนำของญี่ปุ่น แต่ชิโร่ไม่ได้มีความกระตือรือร้นอยากขึ้นตำแหน่งหรือรับงานใหญ่ให้มีชื่อเสียง เขาแค่อยากทำงานไปวันๆ พอมีพอกิน และมีเวลาให้ชีวิตส่วนตัวอย่างเต็มที่ ให้ความสำคัญกับ Work Life Balance และงานอดิเรกคือการทำอาหาร
ชิโร่อาศัยอยู่กับคนรักผู้ชายแล้วก็เลิกรากันไปหลายครั้ง จนได้พบกับเคนจิ

ยาบุกิ เคนจิ เป็นช่างทำผม ทั้งคู่เคยเจอกันในร้านที่เป็นแหล่งรวมของเกย์ และบังเอิญเจอกันอีกครั้งตอนชิโร่ไปทำผมที่ร้านของเคนจิ
ด้วยจังหวะชีวิตที่พอดิบพอดี ทำให้ทั้งคู่เริ่มต้นใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน

หนังโรงภาคล่าสุด ได้หยิบยกเอาเนื้อเรื่องเกี่ยวกับ “ครอบครัว” ในฉบับการ์ตูนมารวมกันเป็นธีมของเรื่อง

เนื้อเรื่องเปิดมาตอนต่อจาก Special เมื่อปีใหม่ที่ผ่านมาซึ่งชิโร่กลับไปบ้านตัวเองพร้อมพาเคนจิไปด้วย
มาตอนนี้แม่ชิโร่กลับบอกว่าเธอไม่ได้รังเกียจเคนจิ แต่ไม่อยากให้ชิโร่พาเคนจิมาที่บ้านตอนปีใหม่ เพราะถึงสมองจะเข้าใจแต่ก็ทนเห็นภาพลูกตัวเองอยู่กับผู้ชายไม่ได้อยู่ดี

ในตอนแรกชิโร่ยอมเข้าใจ และสัญญากับแม่ว่าจะไม่พาเคนจิมา พร้อมไปขอโทษเคนจิ
ส่วนเคนจิแม้รู้สึกเสียใจ แต่ก็ยอมรับและบอกว่าไม่เป็นไร

ผ่านมาสักพักหนึ่ง ประธานสำนักงานทนายเล่าว่า ลูกชายแต่งงานแล้วลูกสะใภ้ไม่ชอบเธอ ไม่ยอมมาเจอ ไม่ยอมให้ไปหาด้วย
ชิโร่ซังได้ฟังแล้วก็เอากลับไปคิดทบทวนเรื่องเคนจิสุดท้ายตัดสินใจว่าสำหรับเขา เคนจิคือ “ครอบครัว” เทียบไปก็เหมือนเป็นสามีภรรยากัน ถ้าแม่ไม่ยอมให้เคนจิไปบ้านปีใหม่เขาก็จะอยู่กับ “ครอบครัว” ของตัวเอง ไม่กลับไปหาพ่อแม่เช่นกัน เพราะวันปีใหม่เป็นวันที่ควรอยู่กับคนสำคัญที่สุดในชีวิต

เคนจิกลับไปที่บ้าน เพราะได้แจ้งข่าวการเสียชีวิตของพ่อซึ่งหย่าร้างกับแม่ไปตั้งแต่เขายังเด็กๆ เขาไปรับกระดูกแล้วเอากลับไปที่บ้านเพื่อทำพิธี
พอกลับบ้านแม่ของเคนจิชวนให้มาทำร้านเสริมสวยที่บ้านต่อส่วนหนึ่งเพราะเป็นห่วงลูกที่ “อยู่ตัวคนเดียว” เพราะไม่เชื่อว่าคนสองคนแค่อยู่ด้วยกันจะมีความสัมพันธ์กันมากพอจะประคองกันไปทั้งชีวิต
สำหรับแม่ของเคนจิ เธอไม่ได้รังเกียจที่ลูกเป็นเกย์ แต่ก็มองว่าความสัมพันธ์ของเกย์มันเปราะบางและเลิกรากันได้ง่ายๆ จึงอยากเลือกหนทางที่มั่นคงให้ลูก

แต่เคนจิและชิโร่ไม่เคยมีเรื่อง “เลิกรา” อยู่ในหัวเลย ทั้งคู่มองการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเป็นสิบปีว่านี่คือครอบครัวแล้ว เทียบเท่ากับครอบครัวอื่นๆ นั่นแหละ เป็นห่วงกันก็แต่สุขภาพของอีกฝ่ายที่แก่ตัวลงทุกวันก็เท่านั้น

ตรงกันข้าม เพื่อนร่วมงานของเคนจิที่อาศัยอยู่กับแฟนสาวเป็นคู่รักชายหญิงแท้ๆ แต่บทจะเลิกก็กันเสียเฉยๆ จบความสัมพันธ์ได้ง่ายๆ

ในตอนท้ายเรื่อง คาโยโกะซังเพื่อนทำกับข้าวของชิโร่เล่าว่าลูกสาวของเธอเพิ่งคลอด และครอบครัวของเธอซึ่งสนิทสนมกับชิโร่ตัดสินใจเอาตัวอักษรคันจิตัวหนึ่งจากชื่อของเขาไปตั้งเป็นชื่อหลาน ซึ่งคำนั้นของเธอทำให้ชิโร่รู้สึกประหลาด พวกเขาไม่ได้เป็นอะไรกันเลย แค่เคยทำกับข้าวและแบ่งผักแบ่งปลากันเท่านั้น แต่ครอบครัวของคาโยโกะซังกลับยอมรับในเขาและทำเหมือนเขาเป็นคนในครอบครัว

ในตอนจบ ชิโร่กลับไปบ้านเพื่อขอให้แม่สอนวิธีทำมีทบอล
เขาทำมีทบอลใส่กล่องไปปิกนิกชมดอกซากุระกับเคนจิ และบอกเคนจิให้อย่าคิดมากเรื่องครอบครัวของเขา
เพราะแม่ที่พูดว่าไม่อยากให้เคนจิไปบ้าน เป็นคนบอกเขาเองว่าต้องให้ความสำคัญกับคนที่เป็นคนสำคัญของตัวเอง
และเขาก็ไม่เคยคิดจะทอดทิ้งพ่อแม่ เขายังไปมาหาสู่ และตั้งใจจะดูแลจนแก่เฒ่า ได้จัดงานศพให้เลย

เคนจิพูดว่า พวกเขาอยู่กันสองคนก็จริง แต่จริงๆ แล้วไม่ได้มีกันแค่สองคน ชีวิตต้องเกี่ยวพันธ์กับผู้คนอีกมากมายรอบตัว

ระหว่างดู และหลังดูจบ เราก็อดคิดถึงความหมายของครอบครัวไม่ได้

ครอบครัวแต่เดิมมักฟังแล้วนึกถึงคนที่มีสายเลือดเดียวกันอยู่ร่วมกัน

แต่เมื่อลองคิดดีๆ คนอยู่บ้านเดียวกันก็ไม่ได้มีสายเลือดเดียวกันหมด เพราะการแต่งงานก็คือการที่คนไม่รู้จักกันมาอยู่ด้วยกัน

ถ้าอย่างนั้นครอบครัวคือเอกสารราชการที่แสดงความสัมพันธ์อย่างนั้นหรือ? ก็ไม่ใช่อีกแหละ

บางทีครอบครัวอาจจะหมายถึงการอกินข้าวด้วยกัน ทำกับข้าวด้วยกัน ล้างจานด้วยกันก็ได้นะ
แม้ไม่ได้อยู่ด้วยกันก็เป็นครอบครัวเดียวกันได้
ขนาดญาติทางสายเลือดยังมีญาติห่างๆ กับญาติสนิทเลย

ทั้งฉบับละคร (ในไทยดูได้ใน Netflix) และฉบับภาพยนตร์
ในฐานคนอ่านการ์ตูนมาตั้งแต่แรกก็ค่อนข้างตกใจที่ยกเอาประเด็นสังคมหนักๆ มาเล่นทั้งนั้น
ต่างจาก BL อื่นๆ ที่มักเอาเรื่องรัก ดราม่า คอเมดี้มาเล่น
แต่สังคมหนักๆ ที่สมจริงของเรื่องกลับเป็นสิ่งที่ยิ่งช่วยเสริมความอบอุ่นหัวใจเมื่อดูเรื่องนี้

ถามว่าใครควรดู
เราว่าทุกคนควรดู อย่าไปตั้งแง่ว่ามันเป็นเรื่องของเกย์
แต่เราอยากให้ทุกคนดูชิโร่และเคนจิในฐานะคนธรรมดาสองคนที่อาศัยอยู่ด้วยกัน
และเมื่อดูแล้วก็อยากให้เข้าใจว่าคนเราไม่ได้แตกต่างกันด้วยรสนิยมทางเพศหรอก แต่ทุกคนต่างกันหมดเลยต่างหาก
ผู้หญิงแต่ละคนไม่เหมือนกัน ผู้ชายแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน เกย์ก็เช่นกัน ทุกคนต่างเป็นคนธรรมดาที่แตกต่างกัน

【รีวิว】竜とそばかすの姫 BELLE (เจ้าหญิงแห่งเสียงเพลง)

เราไปดูเรื่องนี้มาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2021
แต่คิดว่าอนิเมของผกก.โฮโซดะยังไงก็ต้องเข้าไทยแน่ๆ เลยอยากรอให้คนอื่นได้ดูก่อนเลย draft ไว้คร่าว
จนในที่สุดก็เข้าไทยแล้วจริงๆ จึงมาเปิด public สักที

สำหรับใครยังไม่ดูและอยากรู้เนื้อเรื่องคร่าวๆ (มีสปอยด์)

สึสึ เด็กมัธยมหน้าจืด อาศัยอยู่ที่จังหวัดโคจิ มีเพื่อนสนิทเป็นเด็กเนิร์ด กับเพื่อนสมัยเด็กเป็นหนุ่มป็อปประจำโรงเรียน
ตอนเด็กๆ สึสึชอบเล่นดนตรีและร้องเพลงกับแม่ ทั้งยังแต่งเพลงเองผ่านแอพในมือถือด้วย
แต่แม่ของสึสึเสียชีวิตเพราะไปช่วยเด็กคนหนึ่งไว้ สึสึในวัยเด็กพลอยรู้สึกว่าแม่เลือกเด็กคนนั้นมากกว่าตัวเอง
เธอที่ยังเด็กรู้สึกว่าตัวเองโดนทิ้ง อีกทั้งหลังแม่เสียชีวิตแล้วออกข่าว มีคนวิจารณ์ในแง่ลบกันคะนองปากบนโลกอินเตอร์เน็ต
ทำให้สึสึกลายเป็นคนที่ปิดตัวเอง ไม่พูดกับพ่อ แทบไม่มีเพื่อน และร้องเพลงไม่ได้อีกเลย

วันหนึ่งเพื่อนสนิทของสึสึแนะนำแอพ U (ที่หน้าตาเหมือน U Choose) มาให้
แอพนี้เป็นโลกเสมือน ใครเคยดูงาน ผกก.โฮโซดะมา ขอให้นึกถึง Digimon Movie กับ Summer Wars มันคือสิ่งนั้นแหละ แต่ก็พัฒนาตามยุคสมัย มาคราวนี้จะเป็นแอพที่ใช้กับหูฟังเฉพาะ เชื่อมต่อข้อมูลชีวภาพแล้วเจเนอเรทอวาตาร์ให้โดยอัตโนมัติ

สึสึลองเข้าไปเล่นตามคำชวนของเพื่อนสนิท โดยตั้งชื่อว่า BELL (สึสึแปลว่ากระดิ่ง) และพบว่าเธอสามารถร้องเพลงได้ในโลกเสมือน!!

ความสามารถในการร้องเพลงของสึสึ และพลังโปรดิวซ์ของเพื่อนเนิร์ดทำให้ BELL กลายเป็นคนดังในชั่วพริบตา มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทั้งทางดีและแย่ ตลอดจนคนทั่วโลกต่างพยายามตามหาตัวจริงของ BELL กันให้วุ่น

วันหนึ่งในคอนเสิร์ตของเบล ซึ่งเป็นคอนเสมือนใน U
มี “ริว” (แปลตรงตัวว่ามังกร) บุกเข้ามา
ริวต่อสู้เก่ง แต่ไม่ค่อยเคารพกฎเกณฑ์ทางสังคมของ U เท่าไหร่ กลุ่มคนที่อ้างว่าเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ที่ต่อไปนี้ในเราจะเรียกว่า “คนดี” นำโดย Justin ในโลก U จึงพยายามจับริวมาเผย Real ของเขาเป็นการลงโทษ

ผู้คนทั่วโลกต่างสนใจและทายกันว่าริวคือใคร สึสึและเพื่อนก็เช่นกัน

เบลพยายามตามหาริวจนพบปราสาทของเขาที่มี NPC ช่วยซ่อนให้
ริวพยายามไล่เบลไม่ให้มายุ่งกับตน แต่เบลติดใจบาดแผลที่หลังของเขา และพยายามค้นหาว่าริวคือใครเพื่อช่วยเหลือเขา

ผลคือเบลกลายเป็นเป้าหมายการโจมตีของกลุ่ม “คนดี” ไปด้วย

สึสึตามหาจนรู้ว่าแท้จริงแล้วริวคือเด็กมัธยมต้นที่มีน้องชายคนหนึ่ง และทั้งคู่ถูกพ่อแท้ๆ DV (Domestic Violence)
สึสึจึงพยายามติดต่อเพื่อให้ความช่วยเหลือ แต่ตัวจริงของริวกลับไม่เชื่อ เพราะมีคนมากมายพูดว่าจะช่วยเหลือเขา แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครทำจริงแม้แต่คนเดียว ริวจึงไม่ยอมเชื่อว่าสึสึคือเบล คิดว่าเป็นเพียง “คนดี” อีกคนหนึ่งเท่านั้น

หนุ่มป็อปเพื่อนสมัยเด็กบอกให้สึสึกลับเข้าไปใน U และร้องเพลงด้วยร่างแท้จริงของเธอแทนเบลเพื่อให้ริวยอมเชื่อ สึสึจึงกลับเข้าไปแล้วให้จัสตินยิงแสง Unveil ซึ่งจะทำให้อวาตาร์สลายแล้วเผยร่างจริง จากนั้นก็ร้องเพลงของเบลในโลก U ด้วยร่างของสึสึ

ริวยอมเชื่อจึงติดต่อกลับมาหาสึสึอีกครั้ง
เหล่าผู้ใหญ่ที่เอาใจช่วยพวกสึสึอยู่พยายามติดต่อหน่วยงานให้เข้าช่วยเหลือเด็กทั้งสองแต่กลับถูกปฏิเสธ เพราะยังไม่เกิดเหตุรุนแรง และยังต้องมีขั้นตอนรวมถึงเวลาอีกมากจึงจะสามารถดำเนินการได้

สึสึตัดสินใจนั่งรถไฟต่อรถบัสเพื่อเข้าโตเกียวไปตามหาริว
(พิกัดจังหวัดโคจิ https://goo.gl/maps/yMogLP6bNVBx6KbY9)

สึสึตามหาเด็กทั้งสองคนจนพบ และกอดพวกเขา
เธอช่วยปกป้องเด็กผู้ชาย 2 คนเมื่อพ่อพยายามพุ่งเข้ามาทำร้าย
พ่อของริวยืนกรานความถูกต้องของตัวเองว่าทำทั้งหมดไปเพราะความหวังดี แต่แล้วก็ยอมแพ้ไปเองเมื่อเห็นเบลที่มีบาดแผลเพราะโดนเขาทำร้ายยืนประจันหน้าโดยไม่ถอย

ก่อนบอกลา ริวบอกว่าเขาจะเลิกยอมแพ้และแบกรับบาดแผล แต่จะสู้เพราะได้รับกำลังใจจากเบล

สึสึกลับมาโคจิ พ่อที่เธอแทบไม่เคยพูดด้วยออกมารับ และเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่แม่ของสึสึตายที่เธอยอมกินข้าวกับพ่อ

หนุ่มป็อปที่คอยปกป้องและเป็นห่วงสึสึมาตั้งแต่เด็กเมื่อเห็นสึสึก้าวออกมานอกกำแพงในใจที่มีมาตลอดก็สลัดคราบคุณแม่ห่วงลูกมาขอคบเป็นแฟนกับเธอทันที

ภาพตัดไปที่ดวงอาทิตย์โผล่พ้นออกมาจากกลุ่มเมฆ
.
.
.

ความรู้สึก

ดูแล้วคิดถึง Tenki no Ko เพราะเป็นเรื่องของเด็ก ที่ต้องแบกรับกรรมจากเหล่าผู้ใหญ่ (คนดี) แล้วสุดท้ายก็เลือกปกป้องตัวเองโดยไม่แยแสโลกเส็งเคร็งที่ทำให้ชีวิตตัวเองพัง

แต่ก็ไม่ได้เหมือนขนาดนั้นหรอก เพราะผกก.โฮโซดะยังคงนำเสนอเรื่องราวของครอบครัว ที่ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ มา จนทำให้ความสัมพันธ์ที่เคยร้าวกลับมาผสานกันใหม่

โดยรวมส่วนตัวชอบมาก ภาพสวย เพลงเพราะมากกกกกกกกกก ก.ไก่ล้านตัว มีความโฮโซดะ มาโมรุล้นจนทะลัก แต่ก็ใส่ความเป็นละครเพลงแบบดิสนีย์ หรือพูดให้ถูกคือแบบ Beauty & The Beast มาให้ตะลึงในความสวย ฉาก 2D, 3D กลืนกันลงตัวสุดๆ อาจจะชอบมากกว่า Summer Wars ด้วยเรื่องนี้

ข้อเสียคือเราว่าผกก.มีสิ่งที่ต้องการสื่อมากเกินไป และพยายามอัดมันลงไปในหนังเรื่องเดียว แถมยังใส่ฉากร้องเพลงกับฉากสวยๆ อารมณ์ดิสนีย์ลงไปอีกเยอะแยะ ทำให้เวลาที่จะใช้สื่อถึงประเด็นสำคัญๆ น้อยลงไปอีก

อีกอย่างคือตอนจบ
เราว่าตอนจบส่วนของสึสึดีมากเลยนะ การได้พบกับริว และการเสียสละตัวเองเพื่อไปช่วยเหลือคนอื่นแบบที่แม่ของเธอทำมันทำให้สึสึก้าวออกมาจากกำแพงที่สร้างเพราะสงสัยว่าทำไมแม่ถึงยอมช่วย “คนอื่น” แม้ต้องสละชีวิตตัวเอง

ตอนจบส่วนของริวเหมือน irony สังคมแรงๆ แบบแรงมากๆ ไม่มี Happy Ending ให้พี่น้องคู่นี้ ผู้ใหญ่พยายามติดต่อองค์กรให้ไปช่วย มีคลิปหลักฐานว่าถูกพ่อทำร้ายร่างกายจริง คลิปว่อนทั่วเน็ต แต่สิ่งที่ทำได้คือสึสึไปยืนกอดเพื่อให้กำลังใจ แถมสึสึก็โดนพ่อเด็กสองคนนี้ทำร้ายร่างกายอีก ไม่แจ้งตำรวจด้วย สิ่งที่ริวได้จากเบลคือกำลังใจเท่านั้น เปลี่ยนจากเด็กที่ยอมให้พ่อทำร้ายร่างกายเป็นเด็กที่พร้อมจะลุกขึ้นสู้ เผชิญหน้ากับความจริง ไม่หันหลังให้พ่อตี แต่ยืนเชิดหน้าใส่พ่อ

แต่เดี๋ยวก่อน!! เฮ้ย แล้วไงอะ สุดท้ายคือต้องช่วยตัวเอง ไม่มีใครช่วยได้อยู่ดี????

ฉากสึสึกอดเด็กคู่นี้เหมือนจะอบอุ่นแต่ก็เจ็บมากนะ เหมือนตบหน้าผู้ใหญ่ทั้งโลก ทั้งอีพ่อที่ทำตัวเป็น “คนดี” บอกว่าทำไปเพื่อลูก และสารพัดหน่วยงานที่ควรออกมาช่วยเหลือเยาวชนแต่ไม่ทำแล้วอ้างข้อจำกัดสารพัด

ไม่รู้ว่า ผกก. ตั้งใจจบแบบนี้เพื่อจิกกัดสังคมเหมือน Tenki no Ko รึเปล่า
หรือตั้งใจให้ดูอบอุ่นหัวใจ… ถ้าเป็นแบบแรกก็ถือว่าประสบความสำเร็จมากๆ เลยแหละ
แต่ถ้าเป็นแบบหลัง จบอย่างนี้ค้างคามาก อย่างน้อยช่วยมีฉากให้คนดูได้เห็นว่าเด็กสองคนนั้นได้รับการช่วยเหลือแล้วหน่อยเถอะ อันนี้กลายเป็นอ๋อ ได้รับกำลังใจแล้ว ต่อไปนี้ชั้นจะไฟวท์กับพ่อตัวเอง ใช่เหรอ 555555555555555555555555555555555555555555

เนื้อเรื่องเฉลยว่าริวคือใคร แต่ไม่เฉลยคลิโอเน่และจัสติน
คล้ายจงใจให้ความสัมพันธ์ของริว จัสติน คลิโอเน่ เบล เหมือนกับพ่อลูกครอบครัวนี้และสึสึ
แต่ก็จงใจไม่เฉลย ซึ่งเราชอบตรงนี้มาก การไม่บอกว่าคือใครมันเหมือนบอกคนดูว่า “มีคนแบบนี้อยู่ทั่วไป” และเป็นอีกจุดที่ทำให้นึกถึง Tenki no Ko เช่นกัน

มีหลายครั้งที่เรื่องพยายามตอกย้ำว่าเบลหรือสึสึคือ “คนธรรมดา” เป็นคนที่มีอยู่ทั่วไป หาได้ทุกที่ ซึ่งไม่ใช่แค่เบลหรอก แต่ตัวละครทุกตัวในเรื่องถูกทำให้เป็น “คนธรรมดา” กันหมด สาวฮ็อตเจ้าหญิงประจำโรงเรียน มีทั้งคนชอบและคนเกลียด โดนนินทาตลอดเวลา จริงๆ แล้วก็เป็นแค่นักเรียนม.ปลายคนนึงที่แอบชอบเพื่อนร่วมรุ่นแต่ไม่กล้าบอก นอกจากนี้ก็มีตัวละครอีกเยอะที่โผล่แว้บไป แว้บมา ทั้งคนดีและ “คนดี” เมื่อ Unveil ตัวตนแท้จริงออกมา
ทุกคนเป็นแค่ “คนธรรมดา” ทั้งนั้น
.
.
.
อื่นๆ

★ ไม่ปลื้มเสียงพากย์ (พูดรอบที่ล้าน) เหมือนอ่านบททื่อๆ เสียงก็ไม่นิ่ง เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา หงุดหงิดมาก หงุดหงิดทั้งเรื่อง ถ้าดาราพากย์ไม่เก่งก็ใช้นักพากย์อาชีพเถอะค่าาาาาา

★ แรงบันดาลใจเกี่ยวกับ Beauty & The Beast ในเรื่องมีด้านศิลป์เท่านั้น ไม่เกี่ยวอะไรกับเนื้อเรื่องเลย แต่สวยมากกกกกกกก

★ คลิโอเน่น่ารัก ทำไมไม่เท่ากู้ดส์คลิโอเน่เยอะๆ แงงงงงงงงง

★ รอบที่ไปดูมีเด็กเล็กๆ มาดูด้วย และบางทีจะมีการออกแอคชันนิดๆ หน่อยๆ ทำให้รู้ว่าการใส่ฉากบางฉากลงไปมันกระตุ้นความสนใจให้เด็กได้จริงๆ โดยรวมว่าเป็นเรื่องที่ลงตัวแบบดูได้ทุกเพศทุกวัยจริงๆ แต่มั่นใจว่าแต่ละคนดูน่าจะมองเห็นอะไรที่ต่างกัน เรายังอยากดูอีกรอบเลย เพราะคิดว่าถ้าดูอีกรอบน่าจะได้เห็นอะไรในมิติที่ไม่เหมือนครั้งแรก

★ ชื่อตัวละครเล่นคำ สึสึ แปลตรงๆ ว่า BELL ซึ่งสึสึก็ใช้ชื่อนี้ใน U
แต่ BELLE ภาษาฝรั่งเศสแปลว่า “Beautiful”
และน่าจะเล่นกับคำว่า Veil (ภาษาญี่ปุ่นออกเสียงว่าเบล) ที่หมายถึงผ้าคลุมหน้า และสื่อถึง Avatar ใน U ด้วย
.
.
.

สรุป

อวยแหละ ชอบความเสียดสีสังคมและชอบเพลง
ถ้ามีโอกาสได้ดู จะเข้าโรงหรือ Netflix หรือช่องอื่นๆ ก็ดูกันเถอะ
กล้าพูดอย่างเต็มปากเต็มคำว่าใครดูก็ต้องมีจุดที่ชอบแน่ๆ อาจจะไม่ทั้งหมดแต่มีแน่ๆ

ใครชอบเพลง iTunes ไทยมีขายจ้า ขอโฆษณา

Teachnical Writing – เขียนอย่างไรให้อ่านง่าย-

Technical Writing หรือ การเขียนเชิงเทคนิคคืออะไร?

พูดในความหมายแคบ คือการเขียนอธิบายเรื่องที่เป็นเทคนิคเฉพาะ โดยมักใช้กับด้านโปรแกรมต่างๆ
แต่พูดในความหมายกว้าง คือ การเขียนเรื่องยากๆ ให้เข้าใจง่าย

เราบังเอิญได้ฟังบรรยายสั้นๆ เกี่ยวกับเรื่องการเขียนเชิงเทคนิคนี้แล้วเกิดสนใจจนลองไปหาข้อมูลเพิ่มเติม
แต่พบว่า ไม่มีศาตร์นี้ในไทย!? ไม่มีงานตำแหน่งนี้ และหนังสือ ตำราต่างๆ ก็หาไม่ได้เลย
สุดท้ายเราจึงหาข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษและญี่ปุ่น ประกอบกับเทียบภาษาต่างๆ จากการพูดคุย หรือถามผู้ใช้ภาษานั้นๆ

ขอออกตัวล่วงหน้าก่อนว่าเราไม่ใช่ Technical Writer ไม่ใช่โปรแกรมเมอร์ ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญใดๆ
แค่เป็นแค่คนที่ทำงานเขียนคนหนึ่งที่สนใจเลยไปศึกษา และเห็นว่ามีข้อมูลเกี่ยวกับศาสตร์นี้ในไทยน้อยมากจึงอยากนำสิ่งที่ศึกษามาแบ่งปัน

สิ่งที่เราจะเขียนในบล็อกมากจากประสบการณ์จากการทำงาน ข้อมูลที่ศึกษาเพิ่มเติมจากภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่น ประกอบกับการสังเกตและทำแบบสอบถามผู้คน

การเขียนเชิงเทคนิค เป็นการเขียนให้สละสลวย แต่แตกต่างจากพรรณาโวหารของบันเทิงคดีอย่างนวนิยายแทบจะโดยสิ้นเชิง เพราะต้องเขียนให้สั้น กระชับ ไม่กำกวม เข้าใจตรงกันโดยไม่ต้องคิดต่อ

อย่างไรก็ตาม เทคนิคที่ใช้ในงานเขียน เรามองว่ามันสามารถนำไปปรับใช้กับการเขียนได้ทุกประเภท จึงหวังว่าการที่เราเอาข้อมูลที่รับมาแบบไม่ประติดประต่อสักเท่าไหร่มาเรียบเรียงจะช่วยให้เราเขียนได้ดีขึ้น และคนที่หลงมาอ่านบล็อกนี้จะได้อะไรกลับไปฉุกคิดเวลาทำงานเขียนกัน

Technical Writing เนี่ย ชื่ออาจฟังดูเหมือนยาก
แต่โดยพื้นฐานแล้วมันก็คือ “การเขียนที่อ่านแล้วชัดเจน ไม่กำกวม เข้าใจง่าย”
หลักการก็คือ เขียนยังไงให้คนอ่านเข้าใจง่ายที่สุด เร็วที่สุด ไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลย
แต่บางครั้งเราใช้ภาษาจนชิน ทำให้ไม่ทันฉุกใจคิดว่าสิ่งที่พูดหรือพิมพ์อยู่นั้นกำกวม และมีวิธีสื่อสารที่ดีกว่านั้น

ซีรีย์นี้จะอัพไปเรื่อยๆ (ช่วยอวยพรให้เราขยันและมีเวลาด้วย)
ลำดับขออนุญาตมั่วๆ ก็แล้วกัน นึกอะไรได้ก็เขียน

เริ่มจากอันดับแรก
เทคนิคการเขียนที่ใช้ได้กับการเขียนงานทุกประเภท

ทำยังไงให้งานเขียนของเราสละสลวยมากยิ่งขึ้น?

ขออนุญาตอนุมานว่าคนที่หลงมาอ่านสนใจเรื่องการเขียนอยู่แล้ว และข้ามเรื่องพื้นฐานที่หาอ่านได้จากตำราทั่วไปอย่าง เปิดพจนานุกรม ศึกษาวิธีใช้เครื่องหมายวรรคตอน ฯลฯ มาพูดถึงเทคนิคที่เราหรือคนรอบตัวเราใช้และเห็นว่าดีจนอยากบอกต่อ
ใครมีเทคนิคอะไรน่าสนใจก็มาแลกเปลี่ยนไอเดียกันได้ค่ะ

★ อ่านทวนหลายๆ รอบ อาจเว้นระยะเวลาหลายชั่วโมงหรือข้ามวันแล้วค่อยกลับมาอ่าน

★ ไม่แก้งานเขียนไปเลย เพราะหลายๆ ครั้งเราไม่มีทางรู้ว่าประโยคไหนดีกว่ากันแน่ถ้าไม่มองเทียบ แนะนำประโยคที่ยังรู้สึกว่าไม่ดีเขียนแยกอีกที่ แล้วเขียนประโยคความหมายเดียวกันเรียงกันเพื่อมองเทียบ เช่น

1) อ่านหนังสือบนจอคอมพิวเตอร์ได้ผลไม่ดีเท่าอ่านจากหนังสือ
2) อ่านหนังสือบนจอคอมพิวเตอร์ได้ผลดีไม่เท่าอ่านจากหนังสือ
3) อ่านหนังสือบนจอคอมพิวเตอร์ไม่ได้ผลดีเท่าอ่านจากหนังสือ
4) อ่านหนังสือจากจอคอมพิวเตอร์ได้ผลไม่ดีเท่าอ่านจากหนังสือ
5) อ่านหนังสือจากจอคอมพิวเตอร์ได้ผลไม่ดีเท่าอ่านจากหนังสือ
6) อ่านหนังสือจากจอคอมพิวเตอร์ได้ผลไม่ดีเท่าอ่านจากหนังสือ
7) อ่านหนังสือจากแบบกระดาษได้ผลดีกว่าจอคอมพิวเตอร์
8) อ่านหนังสือจากจอคอมพิวเตอร์ได้ผลแย่กว่าอ่านจากหนังสือ

ประโยคทั้งหมดนี้มีความหมายเดียวกัน
ถ้าเป็นเรา และมองในมุม Technical Writing จะเลือกประโยคที่ 7 เพราะเรียบง่าย ชัดเจน ไม่กำกวม
แต่บางกรณี ถ้าต้องการความซอฟต์ เราอาจเลือกข้อ 2 เพราะให้ความรู้สึกว่า “อ่านบนคอมก็ได้ผล แค่ไม่เท่าหนังสือ” ค่อนข้างเป็นกลางกว่า ไม่กระตุ้นอคติคนอ่าน

★ ลองนำคำศัพท์และประโยคที่เขียนไปเสิร์ช เพื่อดูว่าคนอื่นเขียนประโยคลักษณะเดียวกันอย่างไรบ้าง

★ ลองแปลเป็นภาษาอื่น ใช้โปรแกรมแปลก็ได้ เพราะประโยคที่เข้าใจง่ายและไม่กำกวม จะแปลง่ายและเข้าใจได้ในทันที งานเขียนเชิงเทคนิคที่ดีโปรแกรมแปลภาษาจึงมักแปลได้ถูกต้อง

★ ลองอ่านออกเสียง ถ้าไม่ถนัดเสียงตัวเอง ใช้โปรแกรมอ่านออกเสียงช่วยก็ได้ การให้คนอื่น (AKA โปรแกรม) อ่านให้ฟัง ช่วยทั้งตรวจหาตัวสะกดผิดและการเขียนผิดเขียนเกิน แก้แล้วลบไม่หมด ตลอดจนรูปประโยคประหลาดๆ ที่เราอาจไม่รู้สึกตอนเขียนได้ พูดให้เห็นภาพง่ายสุด ถ้าทุกคนลองให้โปรแกรมอ่านออกเสียง คงไม่มีคนใช้ คะ/ค่ะ ผิด

★ เปลี่ยนฟอร์แมตของงานเขียน เช่นเปลี่ยนฟอนท์, ปรินท์ใส่กระดาษ, ย้ายจากจอคอมไปเป็นไอแพด, สลับสีตัวหนังสือและกระดาษ (จากกระดาษขาวตัวหนังสือดำ เป็นกระดาษดำตัวหนังสือขาว เป็นต้น), ก้อปข้อความไปเปิดในโปรแกรมอื่น, ปรับความกว้างของหน้ากระดาษ ฯลฯ ใช้วิธีไหนก็ได้ค่ะ แต่ทำให้ “ภาพ” ที่เห็นตอนอ่านทวน แตกต่างจากตอนเขียน ถ้าอัพบล็อกหรือคอนเทนต์บนเน็ต อาจเขียนใน Word หรือ OneNote ก่อน แล้วค่อยเอาไปวางในบล็อก พอทวนรอบนึงจากหน้า Editor แล้วกดพรีวิวเพื่ออ่านทวนอีกรอบบนหน้าจริง

★ ให้คนอื่นช่วยอ่านและแก้ งานเขียนที่ดีต้องผ่านหลายตา หลายความเห็น แม้แต่นักเขียนก็ยังต้องมีกองบรรณาธิการ เพราะฉะนั้นถ้าอ่านบล็อกนี้แล้วเจออะไรขัดข้องใจ สะกดผิด อ่านไม่รู้เรื่องก็ทักมาได้เลยค่ะ

ว่าด้วยเรื่องการสื่อสารและพัฒนาการทางภาษาตามสภาพสังคมปัจจุบัน

ภาษาในปัจจุบันไม่ได้มีเพียงฟัง พูด อ่าน เขียน แต่ภาษาที่มนุษย์ใช้มาก และอาจมากที่สุดคือการ "ดู"

Continue reading

Kioku Shoten Utakata-dou no Tantan : รวมเรื่องสั้นของร้านหนังสือความทรงจำอุตะคาตะโด

No photo description available.

หนึ่งใน 3 เล่มจากอ.โนมุระที่ออกมาเกือบพร้อมกัน แต่เล่มนี้ไปออกกับอีกสนพ. ไม่มีภาพประกอบ ไม่มีภาพการ์ตูนน่ารัก เป็นนิยายที่ไม่ใช่ไลท์โนเวล รวมเรื่องสั้นๆ ของลูกค้า Utakata-Dou ร้านรับซื้อ-ขายความทรงจำของเด็กหนุ่มหน้าสวยผู้มีผมดำขลับ ดวงตาข้างหนึ่งสีเงิน อีกข้างสีทอง อุทสึสึโนะ อิจิยะ

อิจิยะจะบอกว่าความทรงจำเปรียบเหมือนหนังสือที่บันทึกเรื่องราวของคนแต่ละคนเอาไว้ และเขาสามารถดึงหนังสือเล่มนั้นออกมาได้ เขียนใหม่ได้ ลบได้ เปลี่ยนแปลงได้

อิจิยะสามารถดึงความทรงจำออกจากคน แล้วใส่มันเข้าไปในตัวคนอื่น ทั้งยังปรับเปลี่ยนเล็กๆ น้อยๆ ได้อีกด้วย เมื่อถูกลบความทรงจำคนจะลืมเรื่องนั้นไป แต่หากลบมากเกินไปจะกลายเป็นร่างไร้วิญญาณ และเมื่อลบหายจนหมดก็จะมีผลต่อชีวิต ส่วนคนที่ใส่ความทรงจำเข้าไปก็จะรับรู้เหมือนผ่านประสบการณ์นั้นมาด้วยตัวเอง

ลูกค้าของอิจิยะมีหลากหลาย เขาจะเตือนทุกคนก่อนลงมือทุกครั้งถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น แต่หากลูกค้ายังยืนยันที่จะให้ลงมือเขาก็ทำโดยไม่ปฏิเสธเช่นกัน แม้ผลนั้นจะส่งผลต่อชีวิตของคนมากกว่าหนึ่งคนก็ตาม

ค่าตอบแทนที่อิจิยะรับมีสองอย่างคือ เงิน หรือความทรงจำของผู้ว่าจ้าง

สำนวนในหนังสือต่างจากไลท์โนเวลมาก แต่ตัวพระเอกเหมือนตัวแทนแห่งความจูนิเบียว ตาสองข้างคนละสี เสกหนังสือออกมาร่ายคาถาประหลาดๆ ใช้พลังพิเศษได้ (ฮา)

เนื้อเรื่องเป็นเรื่องสั้นที่ไม่ค่อยเกี่ยวกันและไม่ได้เรียงตามลำดับเวลาเป๊ะๆ
แต่ก็พอจะเห็นลำดับได้อยู่ว่าเรื่องไหนเกิดก่อนเกิดหลัง
และเห็นความเป็นมนุษย์ที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นในตัวอุทสึสึโนะ อิจิยะ

เดิมเขาเป็นคนที่แทบไม่มีความทรงจำอะไรนอกจากเรื่องที่ต้องใช้เมื่อมีชีวิตต่อไป
เพราะไม่มีความทรงจำจึงไม่มีอารมณ์ความรู้สึก
เขาไม่ทำอะไรตามอารมณ์หรือความรู้สึกผิดชอบชั่วดีทั้งสิ้น

แต่เมื่อได้พบกับลูกค้าหลากหลายคนที่มีปัญหาชีวิตต่างกันออกไปมาขอความช่วยเหลือจากเขา หัวใจของอิจิยะก็ค่อยๆ เปิด อารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ค่อยๆ เพิ่มพูนขึ้นในตัวของเขา

เรื่องสั้นๆ อ่านเพลินทุกเรื่อง มีหลากหลายแนวตั้งแต่อึมครึม น้ำเน่า ไปจนถึงฮาร์ทฟูลอบอุ่นหัวใจ รู้ตัวอีกทีจบซะแล้ว เป็นอีกเรื่องที่อยากให้เข้าไทยจังเลย สำนักพิมพ์ไหนผ่านมาเป็นบล็อกนี้แล้วสนใจซื้อลิขสิทธิ์ทีค่ะ ถ้าติดต่อมาให้แปลด้วยจะเป็นพระคุณอย่างสูง

★☆★☆สปอยด์ที่หน้า 2★☆★☆

For Fruits Basket ~เพราะคนเราเลือกเกิดไม่ได้~

มีใครรู้จักเรื่อง Fruits Basket บ้างคะ

ภาษาไทยเวอร์ชันคอมิคโดยสยามอินเตอร์คอมิคใช้ชื่อว่า “เสน่ห์สาวข้าวปั้น”
ส่วนเวอร์ชันอนิเมโดย AmiGO ใช้ชื่อภาษาอังกฤษเลยว่า Fruits Basket

เรื่องนี้เป็นการ์ตูนเก่ากลางๆ เรื่องหนึ่งที่เราชอบมาก
เป็น DVD แผ่นแรก และเรื่องแรกในชีวิตที่เก็บเงินค่าข้าวค่าขนมไปซื้อทุกเดือนจนครบทุกแผ่น หนังสือการ์ตูนมีทั้งภาษาไทยภาษาญี่ปุ่น

เรื่องค่อนข้างยาว สรุปสั้นๆ ว่าเกี่ยวกับเด็กผู้หญิงที่ไม่ว่าเจอเรื่องเลวร้ายขนาดไหนในชีวิตก็พยายามมองโลกในแง่ดีและก้าวผ่านมันไป แถมไม่ไปคนเดียวยังช่วยพาคนรอบข้างหลุดออกมาจากวังวนปัญหาชีวิตทั้งหลายด้วย

ในเรื่องใช้คำว่า “คำสาป” เป็นตัวแทนปัญหาชีวิตเหล่านั้นคล้ายทำให้มองเห็นภาพมากขึ้น ตระกูลโซมะที่โทรุ (นางเอก) บังเอิญเข้าไปเกี่ยวข้องมีคำสาปที่ทำให้บางคนในตระกูลเมื่อถูกเพศตรงข้ามกอดแล้วจะเปลี่ยนร่างเป็น 12 นักษัตร และคำสาปนั้นก็ส่งผลให้เกิดสารพัดปัญหาชีวิตและปัญหาครอบครัว แต่เมื่อคนตระกูลโซมะได้มาเจอกับโทรุคำสาปนั้นกลับสลายตัวไปเองในที่สุด

การที่ผู้เขียนเล่าเรื่องผ่านคำสาปช่วยให้เห็นภาพชัดเจนและปัญหาต่างๆ ดูรุนแรงมากขึ้น แต่ในความจริงแล้วแม้ไม่มีคำสาปชีวิตคนเราแต่ละคน ครอบครัวแต่ละบ้านต่างก็มีปัญหาของตัวเองทั้งสิ้น และคงดีถ้าทุกคนได้เจอคนอย่างโทรุ

รายละเอียดยิบย่อยขอข้ามไป เพราะเราอยากให้ทุกคนได้อ่านหรือดูเรื่องนี้จริงๆ ดูแล้วรู้สึกเหมือนโทรุมาช่วยดึงเราออกมาจากความมืดมิดในชีวิตทีละนิดๆ แบบเดียวกับตัวละครในเรื่อง

เกริ่นนำซะยาว

ตอนนี้ Fruits Basket ได้ทำอนิเมรีเมคฉายทาง Netflix ด้วย (เข้าใจว่าปัจจุบันยังมีเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น แต่อีกไม่นานน่าจะเข้าในต่างประเทศด้วย) แล้วเนื้อเรื่องก็ไปถึงจุดที่เข้าช่วงพี๊คๆ พอดี ดูแล้วนึกไปถึงเพลงชื่อ For Fruits Basket ซึ่งเป็น Opening ของอนิเมเวอร์ชันที่แล้ว และน่าเสียดายที่คนแต่งเพลงเสียชีวิตแล้วจึงไม่สามารถมาทำเพลงให้เวอร์ชันใหม่ได้

สมัยเราดูและฟังครั้งแรกยังไม่เข้าใจภาษาญี่ปุ่น อ่านคำแปลอังกฤษกับไทยก็ยังมีจุดที่เข้าใจยาก แต่ก็รู้สึกว่าเป็นเพลงที่อบอุ่นดีเพลงนึง ตอนนี้เราเข้าใจภาษาญี่ปุ่นแล้วมาฟังอีกแล้วยิ่งประทับใจและรู้สึกว่าถึงจะสร้างใหม่ก็อยากให้ใช้เพลงนี้อยู่ดี

แต่จะซึ้งคนเดียวก็ใช่เรื่อง เลยขอแปลเพลงลงด้วยเผื่อใครสนใจจะไปหาฟัง

ใครอ่านบล็อกนี้แล้วเกิดสนใจ สัญญานะว่าเข้า netflix หรือช่องทางอื่นๆ ในไทยแล้วจะดู ; v ; เรื่องดีมากจริงๆ

ส่วนใครจะเอาคำแปลไปใช้ทำอะไรที่ไหน ใส่เครดิตบล็อกเราให้ด้วยนะคะ

For Fruits Basket
By Okazaki Ritsuko

ฉันดีใจมากเลยนะ ที่เธอส่งยิ้มมาให้
ด้วยรอยยิ้มที่ละลายทุกสิ่ง
 
แม้ฤดูใบไม้ผลิจะยังอีกห่างไกล
แต่ต้นอ่อนก็รอคอยเวลาที่จะได้เติบใหญ่อยู่ภายใต้ผืนดินอันหนาวเหน็บ
 
แม้วันนี้จะเป็นวันอันขมขื่น
แม้ยังหลงเหลือบาดแผลเมื่อวันวานอยู่
แต่ฉันก็อยากจะเชื่อ ว่าหัวใจจะค่อยๆ เปิดรับมัน
 
เราเกิดใหม่ไม่ได้หรอกนะ
แต่เราเปลี่ยนตัวเราใหม่ได้
Let’s stay together ตลอดไป
 
ฉันยิ้มให้เธอเพียงคนเดียว ใช้นิ้วมือนั้นสัมผัสดูสิ
สิ่งเดียวที่เพิ่มพูนอย่างไม่สิ้นสุดคือความหวัง
 
ฉันอยากจะทำสิ่งที่ดี เพื่อจะได้ไม่ต้องรู้สึกผิดอีก
ก้าวข้ามทะเลแห่งความโศกเศร้านี้ไปด้วยกันเถอะ
 
แม้เป็นวันอันขมขื่น
แต่สักวันหนึ่งมันจะกลายเป็นความทรงจำอันอบอุ่น
ถ้าโยนทุกอย่างในหัวใจทิ้งไปได้เมื่อไหร่
 
ฉันรู้ความหมายที่มีชีวิตอยู่ตรงนี้นะ
แล้วก็รู้ถึงความยินดีที่ได้เกิดมาด้วย
Let’s stay together ตลอดไป
 
แม้เป็นวันอันขมขื่น
แม้ยังหลงเหลือบาดแผลเมื่อวันวานอยู่
แต่ฉันก็อยากจะเชื่อ ว่าหัวใจจะค่อยๆ เปิดรับมัน
 
ฉันรู้ความหมายที่มีชีวิตอยู่ตรงนี้นะ
แล้วก็รู้ถึงความยินดีที่ได้เกิดมาด้วย
Let’s stay together ตลอดไป

Musubu to Hon ‘Gekashisu’ :มุสุบุกับเหล่าหนังสือ “ห้องผ่าตัด”

เอโนคิ มุสุบุ เด็กหนุ่มหน้าใส่แว่นหน้าจืดที่มีความลับอย่างหนึ่งคือได้ยินเสียงและพูดคุยกับหนังสือได้ แถมยังมีคนรักสุดขึ้หึงเป็นหนังสืออีกต่างหาก

เล่มแรกของนี้ออกแนวอินโทรแนะนำให้รู้จักตัวละคร และรู้นิสัยของมุสุบุว่าถึงจะเห็นเป็นคนติ๋มๆ ขี้กลัว แต่จริงๆ แล้วเป็นคนยึดมั่นใจความคิดของตัวเองและพร้อมทำทุกอย่างเพื่อช่วยหนังสือรวมถึงคนที่เกี่ยวข้องกับมัน

ไม่แน่ใจว่าเล่มต่อไปจะเหมือนเดิมไหม แต่ในเล่มนี้ประกอบด้วยตอนสั้นๆ หลายตอนหลากหลายอารมณ์ ตั้งแต่ซาบซึ้ง จิตๆ ติดตลก ไปจนถึงรักน้ำเน่า ซึ่งอ่านได้ไม่เบื่อ แต่ก็แอบผิดหวังนิดหน่อยกับงานที่ห่างหายไป 3-4 ปีของอาจารย์โนมุระ จนแอบหวังว่าเล่มต่อไปจะเข้าเรื่องหลักบ้าง ไม่ใช่รวมเรื่องสั้นแบบนี้ ขอเถอะค่ะะะะะ

เรื่องที่กลายมาเป็นชื่อเล่มคือ Gekashitsu (ห้องผ่าตัด) ของ Izumi Kyoka เนื้อเรื่องของ “ห้องผ่าตัด” คือมีหญิงสาวสูงศักดิ์ (แน่นอนว่าแต่งงานแล้ว) คนหนึ่งต้องผ่าตัดแต่ปฏิเสธรับยาสลบเพราะกลัวจะเผลอละเมอพูดความลับออกมา ความลับนั้นคือการที่ตนแอบหลงรักหมอซึ่งผ่าตัดให้ในครั้งนี้ตั้งแต่เดินสวนกันเมื่อ 9 ปีก่อน หญิงสาวคว้ามือหมอที่ถือมีดผ่าตัดแทงอกตัวเองพร้อมพูดว่าคุณไม่รู้จักฉันหรอก แต่หมอผ่าตัดกลับตอบไปว่า “จะไม่มีวันลืม” หญิงสาวเสียชีวิตในห้องผ่าตัด ส่วนหมอที่ผ่านตัดก็เสียชีวิตตามในวันเดียวกัน… เนื้อเรื่องมันก็แอบข้างหลังภาพหน่อยๆ แต่กุโร่ยมากกว่า หญิงสูงศักดิ์กับนักศึกษา ความรักไม่สมหวังจนวันตาย

หนังสือหนังสือรวมเรื่องสั้นเรื่อง “ห้องผ่าตัด” เป็นบุคลิกของหญิงสาวสูงศักดิ์ หลงรักนักศึกษาชายคนหนึ่งที่ยืมเธอกลับบ้านไปอ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่าแถมยังกอดแนบแน่น พาขึ้นเตียงนอนเป็นเวลาหนึ่งปี แต่แท้จริงแล้วนักศึกษาชายไม่ได้หลงรักหนังสือ เขาหลงรักบรรณารักษ์สาวที่เคยอ่านเรื่อง “ห้องผ่าตัด” ในห้องสมุดแห่งนั้นเมื่อสมัยเขายังเป็นเด็กประถม และสัญญากับเธอว่าเมื่อโตขึ้นจนเข้าใจเรื่องราวได้จะอ่านเรื่องนี้อีกครั้ง บรรณารักษ์สาวยังคงทำงานอยู่ในห้องสมุดที่เดิม นักศึกษาชายจึงมายืมหนังสือเล่มนั้นที่เธอเคยอ่านจากห้องสมุดที่เธอทำงานกลับไปที่บ้านทุกสัปดาห์…

(สปอยด์)
บรรณารักษ์สาวมีคู่หมั้นที่กำลังจะแต่งงาน แต่มุสุบุก็ยังพยายามบอกให้นักศึกษาชายบอกรักเธอจะได้ไม่ต้องมีอะไรค้างคาอีก เขาตัดสินใจจัดงานร่วมกันอ่านหนังสือเรื่อง “ห้องผ่าตัด” (ญี่ปุ่นมีงานอะไรแบบนี้ คือเอาหนังสือมาอ่านคนละหน้าสองหน้าจนครบแล้วมานั่งวิเคราะห์เรื่องด้วยกัน) และชวนทั้งคู่มาร่วมงาน จึงได้รู้ว่าบรรณารักษ์เองก็จำเด็กประถมที่ตนเคยคุยด้วยคนนั้นได้แถมยังหลงรักเขาอีกด้วย แต่พยายามเมินความรู้สึกนั้นของตนเพราะคิดว่าเป็นไปไม่ได้…นักศึกษาชายได้อารมณ์พาไป จากสารภาพรักกลายเป็นขอเธอแต่งงานเสียนี่

มุสุบุรับบทหนักในการตัดสินใจทุกครั้ง เขาอยากช่วยเหลือหนังสือ แต่ก็อดห่วงความรู้สึกของผู้คนไม่ได้ ไม่ว่าเรื่องราวจะเป็นอย่างไร ไม่ว่ามุสุบุจะตัดสินใจทำอะไรย่อมมีคนหรือหนังสือที่ได้ผลกระทบ ความรักของทั้งคู่สมหวังหนังสือเรื่อง “ห้องผ่าตัด” ก็ต้องอกหัก และคู่หมั้นของบรรณารักษ์ต้องเสียใจอย่างแน่นอน ถ้าเลือกชีวิตปัจจุบันความรักของทั้งคู่ก็จะไม่มีวันสมหวัง และบรรณารักษ์ก็คงไม่มีวันยอมสารภาพว่าตนหลงรักนักศึกษาที่อายุน้อยกว่าเกือบสิบปี

คอนเซ็ปต์(?) ของเรื่องคือความทรงจำ ความคิด และความรู้สึกของหนังสือซึ่งไร้ที่พึ่งพิงอื่นนอกจากมุสุบุซึ่งเป็นมนุษย์คนเดียวที่ฟังคำพูดของพวกเขาออก มุสุบุที่ทุ่มเทช่วยเหลือพวกเขาแต่ต้องคอยเป็นห่วงความรู้สึกของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับหนังสือเหล่านั้นด้วย

เนื้อเรื่องเกิดที่โรงเรียนเซโจกาคุอิน หรือโรงเรียนเดียวกับเรื่องบุงกะคุโชโจนั่นแหละ ฮิเมคุระ ฮารุโตะคือลูกชายคนโตของฮิเมคุระ มากิซึ่งปัจจุบันเป็นผ.อ.โรงเรียนแล้ว พ่อของฮารุโตะคือริวโตะ น้องชายของโทโอโกะเซ็มไป แต่ว่าทั้งคู่ไม่ได้แต่งงานกัน มากิแต่งงานกับคนอื่น มีลูกด้วยกันแต่ตอนหลังสามีตาย ส่วนริวโตะก็แต่งงานกับคนอื่นและมีลูกแฝดอีกสองคน ฮารุโตะสนิทกับทั้งสองบ้านรวมถึงโทโอโกะเป็นอย่างดี ทั้งยังรู้ความลับของโทโอโกะอีกด้วย

มีความเชื่อมโยงระหว่างสองเรื่องให้แฟนๆ ได้กรี๊ดกร๊าดนิดๆ หน่อยๆ แต่ยิ่งอ่านก็ยิ่งอดคิดไม่ได้ว่าแล้วถ้าคนคุยกับหนังสือได้เจอกับคนกินหนังสือจะเป็นยังไง… มุสุบุจะต้องฟังเสียงหนังสือกรีดร้องตอนค่อยๆ โดนฉีกแล้วเคี้ยวทีละนิดแบบนี้เหรอ คิดแล้วรู้สึกโหดกว่าไททันอีก จะดีเหรอคะ… แต่ถ้าสองคนไม่ได้เจอกันเลยก็รู้สึกเสียดายอีกที่อุตส่าห์เขียนให้เนื้อเรื่องต่อกันมาตั้งขนาดนี้

อาจารย์โนมุระวางปมเอาไว้เพียบ… โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับโยนากะฮิเมะ คน(หนังสือ)รักของมุสุบุ กับเรื่องการพบกันของมุสุบุกับฮารุโตะ หวังว่าเล่มสองจะเข้าเรื่องหลักมากกว่านี้ และหวังว่าจะไม่โดนตัดจบเหมือนคิวเค็ทสึกิ (สาธุ)

แต่ถ้าถามว่าเล่มนี้เป็นยังไงก็แอบลำบากใจที่จะตอบว่าสู้ซีรีย์ที่ผ่านๆ มาไม่ได้เลย ขอลุ้นให้เล่มต่อไปเข้าประเด็นอะไรบ้างเถอะ…

ใครที่ยังลังเลว่าจะอ่านเรื่องนี้ดีไหมลองไปฟังบทแรก (ปิ๊ปปี้ถุงเท้ายาว) ได้ที่ https://soundcloud.com/kimirano/sets/l64kw60t5bas เป็นช่องของ official ที่อ่านบทแรกทั้งบทให้ฟังแบบฟรีๆ!!

Nisemono Fuufu no Kouchaten : ร้านน้ำชาของสามีภรรยากำมะลอ

~เพราะในโลกนี้มีความสัมพันธ์หลากหลายรูปแบบ~

นิยายยาว 2 เล่มของ Kobe Haruma ซึ่งเป็นนักเขียนที่เราไม่เคยอ่านผลงานอื่นมาก่อนเลย

ไม่แน่ใจว่าจบหรือยังแต่ไม่มีข่าวว่าจะออกภาคต่อ และไม่เคยเห็นว่ามีแปลไทย
เนื้อเรื่องก็ไม่ได้โดดเด่นมากมายสักเท่าไหร่ แต่เราอ่านแล้วประทับใจเป็นการส่วนตัวจึงอยากเอามาแนะนำกัน หวังว่าจะมีสำนักพิมพ์ไหนสนใจนำไปแปลขายในไทย หรือใครอยากฝึกอ่านภาษาญี่ปุ่นเรื่องนี้ก็ภาษาอ่านง่ายเหมาะแก่การฝึกฝนค่ะ

อายาเมะ เด็กสาวที่เติบโตมาในครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยว และมีแม่ที่คบๆ เลิกๆ กับผู้ชายที่มีจุดร่วมเหมือนกันคือไม่ได้เรื่องได้ราวเลยสักคน เธอจึงมุ่งมั่นว่าจะต้องยืนด้วยลำแข้งตัวเองและออกจากบ้านไปอยู่คนเดียวให้ได้ เมื่อจบม.ปลายอายาเมะไม่ต่อมหาวิทยาลัยแต่ไปเรียนเป็นช่างเสริมสวยเพื่อจะได้เริ่มต้นทำงานเร็วที่สุด ก่อนเรียนจบเธอไปฝึกงานที่ร้านตัดผมแห่งหนึ่ง อัตสึฮิสะเจ้าของร้านเกิดเห็นแววจึงชวนมาทำงานด้วย หลังทำไปได้ไม่นานก็มาชวนอายาเมะไปอยู่ด้วยกัน

อายาเมะที่อยากออกจากบ้านอยู่แล้วตกลงรับคำชวน ความสัมพันธ์ไม่ได้ดีนักเพราะอายาเมะฝึกฝนอย่างหนักจนดึกดื่นทุกวัน ส่วนอัตสึฮิสะก็เป็นผู้ชายที่พูดสวยๆ ว่ามีความเป็นผู้นำ หรือพูดตรงๆ ว่าบ้าอำนาจ

วันหนึ่งอายาเมะเหนื่อยจากการทำงานจึงไม่อยู่ร้านจนดึกเหมือนทุกวัน แต่เมื่อกลับถึงบ้านกลับเจออัตสึฮิสะอยู่กับลูกค้าสาวคนหนึ่ง พอแสดงท่าทีไม่พอใจกลับโดนหงุดหงิดใส่แทนว่า “ถ้าไม่พอใจก็ออกไป” อายาเมะจึงไม่รอช้าเก็บของใส่กระเป๋าออกจากบ้านมาโดนทันที

เธอลากกระเป๋าไปขึ้นรถไฟ นั่งไปเรื่อยๆ ถึงสถานีทาเทยามะ จังหวัดจิบะ หยิบโทรศัพท์มามองแผนที่แล้วตั้งใจจะเดินตามถนนสายดอกไม้ (ฟลาวเวอร์ไลน์) จากสถานีไปจนถึงสุดทางแหลมโบโซ แต่เดินไปได้หน่อยก็เกิดเหนื่อยล้าจึงนั่งลงพักที่ริมชายหาด อายาเมะหยิบมือถือขึ้นมาเห็นข้อความเข้ามามากมาย แต่ก็ตัดสินใจไม่เปิดอ่านแล้วโยนมือถือทิ้งลงทะเล

พอนั่งเหม่ออยู่ริมทะเลได้สักพักมีชายสวมแว่นขี่สกูตเตอร์ผ่านมาถามเธอว่า “จะฆ่าตัวตายเหรอ” เมื่อคุยไปคุยมาจึงได้ความว่าเป็นเจ้าของร้านน้ำชาริมทะเล อายาเมะเพิ่งรู้ตัวว่าหิวจัดจึงขอตามเขาไปที่ร้าน พอไปถึงร้านน้ำชาซึ่งดัดแปลงมาจากบ้านไม้โบราณจึงรู้ว่าร้านยังไม่เปิดแต่ชูจิ เจ้าของร้านปากเสียก็ยอมให้เธอเข้าไปและทำแซนด์วิชกับชงชาให้เธอ

ระหว่างนั่งกินอยู่นั้นเอง เกิดมีเสียงอึกทึกมาจากด้านใน ชูจิหายเข้าไปในบ้านพักใหญ่จนอายาเมะกังวลและเดินตามเข้าไปดู ภาพที่เธอเห็นคือเครื่องซักผ้าพ่นฟองกับเครื่องดูดฝุ่นชิ้นส่วนกระจัดกระจาย ชูจิบ่นอุบอิบว่าไม่รู้ทำไมเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเขาถึงไม่ได้เรื่องสักอย่าง อายาเมะมองไปรอบๆ ทั้งบ้านและร้านแล้วถามถึงวันเวลาเปิดร้าน เธอตกใจเมื่อชูจิบอกว่าอีก 5 วันหลังจากนี้ เพราะยังไม่มีอะไรที่ดูพร้อมเลยแม้แต่อย่างเดียว

อายาเมะไร้ที่ไป ประกอบกับเป็นห่วงชูจิกับร้านจึงอาสาซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าให้ และช่วยเตรียมพร้อมเปิดร้านในอีก 5 วันถัดไป โดยขอแลกกับที่พักและอาหาร เวลา 5 วันที่ทั้งคู่ช่วยกันเตรียมเปิดร้านทำให้เพื่อนบ้านเข้าใจว่าอายาเมะเป็นภรรยาของชูจิ แต่ด้วยความยุ่งวุ่นวายทำให้ทั้งสองคนไม่ใส่ใจมัน

อายาเมะเกิดชอบชีวิตร่วมกับชูจิที่ร้านน้ำชา “นากิสะ” ส่วนชูจิแม้พูดจาไม่ค่อยรักษาน้ำใจแต่สุดท้ายก็เป็นคนเอ่ยปากชวนให้อายาเมะอยู่ต่อหลังเปิดร้าน โดยทั้งสองได้ทำข้อตกลงร่วมกัน 4 ข้อ
1. ห้ามไม่ให้คนนอกรู้ว่าจริงๆ แล้วไม่ใช่สามี-ภรรยากัน
2. ห้ามเข้าห้องส่วนตัวของอีกฝ่าย
3. ห้ามตัดสินใจทำอะไรที่ส่งผลต่อร้านหรือส่วนกลางโดยพลการ
4. ทั้งสองฝ่ายสามารถยุติความสัมพันธ์นี้ได้ทุกเมื่อโดยไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอม

ทั้งหมดนี้คืออินโทร ส่วนเนื้อสองเล่มจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับลูกค้าที่ร้าน เพื่อนบ้าน ครอบครัวและเพื่อนฝูงของทั้งคู่

เนื้อเรื่องจัดว่าธรรมดาไม่ได้มีอะไรโดดเด่น แต่เราชอบสำนวนคนเขียนที่เขียนอ่านลื่นและไม่ยืดเยื้อเกินไป และชอบความสัมพันธ์ของทั้งสองคนที่ตอนท้ายที่สุดต่างพูดอย่างเต็มปากเต็มคำว่าเป็น “ครอบครัว” โดยที่ยังคงรักษากฎที่ตกลงกันไว้ตั้งแต่แรก

ทั้งสองคนทะเลาะกันเป็นประจำเพราะไม่มีฝ่ายไหนของคอย “ลงให้” อีกฝ่าย แต่ต่างพูดความคิดของตัวเองจนกว่าจะได้ข้อสรุปร่วมกัน

ตอนอายาเมะประสบอุบัติเหตุชูจิทิ้งทุกอย่างไปโรงพยาบาลทันทีที่รู้ข่าว

ตอนชูจิล้มป่วยอายาเมะก็พาไปโรงพบาบาลทันทีและช่วยดูแลจนหาย

คนสองคนสามารถอยู่ร่วมกันได้ แบ่งงานกันทำตามความถนัดได้ เป็นห่วงเป็นใยกันได้โดยเคารพซึ่งกันและกัน และไม่ล่วงล้ำพื้นที่ส่วนตัวของอีกฝ่าย

มันเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่มีชื่อเรียกแต่ก็อบอุ่นหัวใจจนไม่แปลกใจที่เพื่อนบ้านและลูกค้าของร้านมองพวกเขาเป็นสามีภรรยาที่รักกันดี

ชูจิบอกว่า “Tea Room” หมายถึงห้องพักที่ช่วยความเหนื่อยล้าจากการงาน

ชูจิหนีจากชีวิตที่โดนครอบครัววางแผนไว้ทุกกระเบียดนิ้ว และตัวเองที่ไม่มีความคิดความตั้งใจอะไรเป็นของตัวเองเลยมาแบบไร้จุดหมายแล้วหยุดที่ทาเทยามะ หลังจากนั้นจึงมองหาทำเลเพื่อหนีจากบ้านมาเปิดร้านน้ำชาของตัวเอง

ส่วนอายาเมะหนีจากชีวิตที่โดนแฟนนอกใจและตัวเธอที่เคยเป็นฝ่ายยอมให้อีกฝ่ายตลอดมาที่ทาเทยามะและได้เจอกับชูจิกับร้านนากิสะ

ร้านนากิสะจึงเป็น “Tea Room” สำหรับทั้งคู่ และทั้งคู่ก็หวังจะให้ร้านเป็นที่พักของผู้ที่แวะเวียนมาหา

ในเล่มแรกความสัมพันธ์ของทั้งคู่จึงดูเป็นสิ่งชั่วคราว เหมือนมาพักเพียงชั่วคราวเพื่อจะกลับไปดำเนินชีวิตจริงต่อ จนกระทั่งท้ายเล่มแรกต่อเล่มสอง ที่มีการลงลึกถึงสาเหตุที่ทั้งคู่หนีมา และการตัดสินใจเลือก “นากิสะ” ในปัจจุบันมากกว่ากลับไปเดินตามเส้นทางในอดีตของตัวเอง

อ่านจนจบเล่มสอง อายาเมะรู้ตัวว่าชอบชูจิแต่ก็ไม่ได้พูดออกไปเพราะยังพอใจกับความสัมพันธ์ปัจจุบัน ส่วนชูจิเหมือนยังไม่รู้ว่าความรู้สึกของตัวเองคืออะไรแต่เขาก็บอกครอบครัวตัวเองว่าอายาเมะเป็นภรรยาที่เขาเลือกเอง และเอ่ยปากขอให้อายาเมะอยู่ที่นากิสะต่อ ทั้งยังเสนอให้ลบกฎข้อที่ 4 ออกเพราะกลัวอายาเมะจะหายไปเฉยๆ อีกด้วย

สองเล่มนี้เรื่องทั้งหมดเล่าจากมุมมองของอายาเมะ อยากจะให้ออกภาคต่ออีกสักเล่มแล้วเล่าเรื่องผ่านมุมมองของชูจิบ้างจังเลย…ทุกคนที่ผ่านมาอ่านบล็อกเราแล้วเกิดสนใจช่วยกันซื้อมาอ่านทีนะคะ เผื่อยอดขายขึ้นสักหน่อยสำนักพิมพ์จะใจดีให้เขียนภาคต่อได้

เราประทับใจความสัมพันธ์ไม่มีชื่อนี้ของอายาเมะกับชูจิมากๆ อ่านแล้วแอบฝันนิดๆ ว่าอยากจะมีสถานที่ที่เป็น Tea Room แบบถาวรของตัวเองบ้างจัง ^^